กลุ่มวนเกษตรอินทรีย์ พีจีเอส อุตรดิตถ์

19/11/2020

    พื้นที่โซน อ.เมืองและ อ.ลับแล เป็นกลุ่มเกษตรกรรายย่อยที่รวมตัวกันโดยได้รับการสนับสนุนจากคณะผู้วิจัยอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ และได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก Lemon Farm Organic PGS ในปี 2561 โดยได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานโดย สสส. และเลมอนฟาร์ม เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้มีความปลอดภัยในรูปแบบการผลิตตามระบบเกษตรอินทรีย์ และอนุรักษ์พันธุ์ลางสาดพื้นบ้าน ซึ่งเป็นพืชอัตลักษณ์ของ จ.อุตรดิตถ์ ให้คงอยู่ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ป่าไม้ในระบบป่าวนเกษตรโดยไม่พึ่งพาสารเคมี
    พื้นที่โซนอ.น้ำปาด เป็นพื้นที่ชายขอบ ติดกับชายแดนลาว ชาวบ้านยากจน ชาวบ้านอยู่กันมา 273 ปี ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เพาะปลูกข้าวโพด ที่ใช้สารเคมีจำนวนมาก จนกลายเป็นพื้นที่ภูเขาหัวโล้น ต่อมาในปี 2548 เกิดปัญหาดินถล่มเสียหาย 3 หมู่บ้าน และเผชิญปัญหาจากนโยบายทวงคืนพื้นที่ทำกินในเขตป่าอุทยานสักใหญ่ ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน เพราะไม่มีที่ทำกิน

ก่อนเข้าร่วม
ปัญหาการตัดโค่นไม้ป่าและ ต้นลางสาด เพื่อเปลี่ยนเป็นพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวที่ได้ราคาดี เช่น ทุเรียนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาดินสไลด์และใช้สารเคมีบนที่สูงอย่างหนัก
พ.ศ.2560
การเกษตรคนอยู่กับป่า เกษตรกรกลุ่มหนึ่งเกิดความหวงแหนต้นลางสาดพืชพื้นถิ่นของจังหวัด ได้พยายามอนุรักษ์ต้นลางสาดพื้นบ้านให้คงอยู่ คู่วัฒนธรรม และช่วยรักษาหน้าดินระบบนิเวศ โดยการทำสวนระบบวนเกษตร ผสมผสานกับป่าให้ธรรมชาติดูแล คนอยู่ได้ สัตว์ป่าอยู่ได้ ป่าไม้อุดมสมบูรณ์

พ.ศ.2561
เข้าร่วม Lemon Farm Organic PGS สมาชิกทั้งหมด 20 ราย ในอ.เมืองและอ.ลับแล สมาชิกนำพื้นที่เข้าร่วมเพียงบางส่วน ผลผลิตหลัก ได้แก่ ลางสาด ลองกอง ทุเรียน
-ขยายพื้นที่ไปยังอ.น้ำปาด มีสมาชิก6ราย โดยเลมอนฟาร์มและ NGO ในพื้นที่ ได้เข้าไปคุยกับนายอำเภอน้ำปาด เพื่อขออนุญาตทำเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมีในพื้นที่ ปลูกไม้ผลยืนต้นเพื่อเป็นการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำและพื้นฟูพื้นที่เขาหัวโล้นจากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้เป็นพื้นที่วนเกษตรอินทรีย์ให้คนอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน


พ.ศ.2562
เกษตรกรเริ่มเรียนรู้กระบวนการ PGS เกษตรกรหลายรายปรับเปลี่ยนเลิกใช้สารเคมี มาสู่การทำวนเกษตรอินทรีย์100%
-เกษตรกรโซน อ.น้ำปาด ภายใต้การดำเนินงานโครการฯอย่างต่อเนื่องและความตั้งใจฟื้นฟูพื้นที่ ทำให้วันนี้เกษตรกรได้รับสิทธิ์จากป่าไม้ให้สามารถทำกินในพื้นที่เดิมของตนเองได้

-ด้วยการสนับสนุนของ สสส. และเงินบริจาคของผู้บริโภคในโครงการ “ลดถุงพลาสติกร่วมสร้างพื้นที่อินทรีย์” ที่ร้านเลมอนฟาร์ม เลมอนฟาร์มจัดซื้อต้นกล้าสับปะรดห้วยมุ่น13,200ต้น ซึ่งเป็นพืชGIของอ.น้ำปาด มอบให้เกษตรกรเพื่อเป็นผลผลิตสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรระหว่างรอผลผลิตไม้ผล
พ.ศ.2563
สับปะรถห้วยมุ่นของเกษตรกรโซนอ.น้ำปาด ให้ผลผลิต แต่มีปริมาณน้อยไม่เพียงพอในการจัดส่งมายังร้านเลมอนฟาร์ม เกษตรกรจึงจัดจำหน่ายในพื้นที่

พ.ศ.2564
เกษตรกรอ.น้ำปาด ส่งผลผลิตสับปะรดมายังร้านเลมอนฟาร์มเป็นครั้งแรก ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม จำนวน 1,300กก.

ปัจจุบัน
กลุ่มวนเกษตรอินทรีย์ พีจีเอส อุตรดิตถ์ 2 โซนพื้นที่วนเกษตรอินทรีย์ต้นแบบสู่ความยั่งยืน คืนความสมดุล รักษาระบบนิเวศหลากหลายผสมผสาน เกิดแหล่งอาหาร เกิดผลผลิตอินทรีย์สร้างอาชีพ สร้างรายได้ไปพร้อมกับการฟื้นฟูอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
•โซนอ.เมืองและอ.ลับแล มีผลผลิตอินทรีย์ฤดูกาล ได้แก่ มะยงชิด มะปรางหวาน ทุเรียน ลองกอง ลางสาด
•โซนอ.น้ำปาด มีผลผลิตอินทรีย์ สับปะรดห้วยมุ่นปริมาณเพิ่มขึ้น ส่งผลผลิตมายังร้านเลมอนฟาร์มช่วงเดือนพฤษภาคม