กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตและแปรรูปไม้ผลเมืองหนาวบ้านผาเจริญ จ.แม่ฮ่องสอน

19/11/2020

    หมู่บ้านผาเจริญ เป็นหมู่บ้านชาวไทยภูเขาเชื้อสายลาหู่ นับถือศาสนาคริสต์ พื้นที่เกือบทั้งหมดของหมู่บ้านเป็นไหล่เขาหรือหน้าผาอยู่ในเขตป่าต้นน้ำ เมื่อสามสิบปีก่อนพื้นที่นี้ชาวบ้านบุกรุกป่าทำไร่เลือนลอยและปลุกฝิ่น ทางราชการต้องการแก้ปัญหายาเสพติดจึงสนับสนุนให้จัดตั้งเป็นหมู่บ้าน ตั้งชื่อว่าหมู่บ้านผาเจริญ ปัจจุบันมีชาวบ้านประมาณ 29 ครัวเรือน ทั้งหมดเป็นเครือญาติกัน
    ประกอบอาชีพทำเกษตรกรรมยั่งยืน ปลูกผลไม้เมืองหนาวและกาแฟ โดยไม่ตัดไม้ทำลายป่า ไม่ปลูกยาเสพติด และไม่มีสารเคมีทุกประเภท (ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ฆ่าหญ้า ฮอร์โมน) เพื่อรักษาพื้นที่ป่าต้นน้ำให้ปลอดภัยไม่มีสารเคมีตกค้าง มีรายได้หลักจากการขายผลไม้เมืองหนาว
ก่อนดำเนินงาน
    เกษตรกรเป็นชาวลาหู่แดง เดิมมีอาชีพปลูกฝิ่น ทำไร่เลื่อนลอย จนเกิดหนี้สิน ปลูกไม้ผลในระบบเกษตรอินทรีย์ ในปี 2535 เกษตรกรยังไม่เข้าใจเรื่องการทำมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ แยกกันทำ แยกกันขาย ประสบปัญหาความผันผวนด้านราคาตลอดทุกปี รายได้ต่อครัวเรือนไม่เพียงพอในการเลี้ยงครอบครัว ทำให้ผู้นำครอบครัวต้องไปรับจ้างในเมืองเพื่อหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว
พ.ศ.2557
    เข้าร่วม Lemon Farm Organic PGS โดยเป็นกลุ่มชุดแรกที่ร่วมจัดทำระบบรับรองมาตรฐาน Lemon Farm Organic PGS โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากลจากธนาคารพัฒนาเอเชีย(ADB) และกรีนเนท เป็นที่ปรึกษาในการเริ่มต้น 

เกษตรกรเข้าร่วม จำนวน 8 ครอบครัว พื้นที่ 30 ไร่ ซึ่งเป็นเครือญาติกันทั้งหมดโดยมีพี่แสนสะอาด คนรุ่นใหม่เป็นผู้นำ
พ.ศ.2558
สมาชิก จำนวน 10 ครอบครัว พื้นที่ 36 ไร่ เกษตรกรเริ่มขายผลผลิตให้เลมอนฟาร์มโดยใช้มาตรฐาน LF-PGS โดยเป็นผลผลิตผลไม้เมืองหนาว อาทิ พลับ พลัม ลูกไหน อะโวคาโด

พ.ศ.2559
เกิดกระบวนการดูแลคุณภาพผลผลิตโดยสมาชิก กลุ่มมีระบบบริหารที่ชัดเจน กลุ่มจัดตั้งกองทุน นำเงินรายได้จากการขายผลผลิตให้เลมอนฟาร์ม 10% นำมาเป็นกองทุนดูแลและพัฒนาชุมชน ทุนการศึกษาเด็ก ค่าใช้จ่ายในการเข้าเมืองไปรักษาพยาบาลของคนในชุมชน
ผลผลิตเพิ่มขึ้นนอกจากผลไม้เมืองหนาวแล้ว ยังมีข้าวกล้องดอย ถั่วดำ ถั่วแดงหลวง ถั่วแดงเล็กอาซูกิ สมาชิกมีรายได้หมุนเวียนทุกฤดูกาล
พ.ศ.2560
ขยายเครือข่ายสมาชิกกลุ่มไปยังพื้นที่ จ.เชียงราย  ซึ่งเป็นพื้นที่การผลิตลูกพลับคนในชุมชนกลับมาดูแลผลไม้ในสวนมากขึ้น คนรุ่นใหม่เริ่มกลับมาพัฒนาชุมชน เกิดผลผลิต 30 ตัน/ปี (ผลไม้ 24 ตัน, ข้าว 4 ตัน, ธัญพืช 2 ตัน)

พ.ศ.2563
เงินกองทุนกลุ่มมีมากขึ้น ทำให้สามารถสร้างโบสถ์คริสต์หลังใหม่ทดแทนหลังเก่าที่ทรุดโทรม ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนา พิธีตามประเพณีวัฒนธรรมของชนเผ่า และเป็นห้องสมุดชุมชนให้กับเด็กๆ

พ.ศ.2564
ชุมชนจัดการป้องกันไฟป่าได้100% โดยนำเงินกองทุนกลุ่มส่วนหนึ่งสนับสนุนค่าใช้จ่ายกิจกรรมจัดทำแนวกันไฟ และช่วยกันจัดเวรยามเฝ้าระวังไฟ24ชม.



ปัจจุบัน
กลุ่มเกษตรอินทรีย์ PGS บ้านผาเจริญ มีสมาชิก 24 ครอบครัว มีรายได้เลี้ยงชีพจากผลผลิตผลไม้เมืองหนาวตามฤดูกาลหลากหลายชนิด และผลิตข้าวดอย ถั่วดำ ถั่วแดงหลวง ด้วยระบบวนเกษตรอินทรีย์ รักษาและอยู่ร่วมกับผืนป่า ชุมชนมีแหล่งอาหารจากป่าชุมชน พึ่งพาอาศัยกันอย่างยั่งยืน