กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ทุ่งทองยั่งยืน จ.สุพรรณบุรี

18/11/2020

    พื้นที่ที่เป็นแหล่งอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรีเป็นเมืองที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งดินและน้ำสูง ซึ่งสามารถทำนาปลูกข้าวได้ถึงปีละ 3 รอบ เพื่อผลิตข้าวอินทรีย์ที่มีประโยชน์ให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค เกษตรกรกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ทุ่งทองยั่งยืน ได้ร่วมกันสืบสานวิถีชีวิตการทำนาของชาวนาสมัยก่อน โดยจะรักษาประเพณีและวัฒนธรรมชาวนาดั้งเดิม และพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากตนเองให้มากที่สุด ฉะนั้นแล้วการทำนาที่นี่จึงมีความประณีตสูง ใส่ใจดูแลต้นข้าวเป็นอย่างดีและมีคุณธรรม นอกจากข้าว ยังมีผักและผลไม้ตามฤดูกาลอีกหลากหลายที่ผลิตบนพื้นที่เกษตรอินทรีย์ ทำให้ทุ่งกลายเป็นทองที่อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพรรณธัญญาหารมีกิน แบ่งปัน อย่างยั่งยืน
ผลผลิต : กวางตุ้ง คะน้า ผักโขม สลัด ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าว กข.43

พ.ศ.2548
เริ่มต้นทำเกษตรอินทรีย์ พ่อปัญญา ใคร่ครวญ (ผู้นำกลุ่ม)จึงชวนเพื่อนชาวนาที่ประสบปัญหาเหมือนกัน จัดตั้ง”กลุ่มเกษตรอินทรีย์ อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี” เปลี่ยนแนวคิดจากการทำนาเคมีเพื่อหวังร่ำรวย สู่ชาวนาอินทรีย์ที่เกื้อกูลธรรมชาติ สามารถพึ่งตนเองได้พออยู่พอกินตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

พ.ศ.2557
เข้าร่วม Lemon Farm Organic PGS โดยเป็นกลุ่มชุดแรกที่ร่วมจัดทำระบบรับรองมาตรฐาน Lemon Farm Organic PGS มีสมาชิกเข้าร่วม40ราย พื้นที่550ไร่ ผลิตข้าวไรซ์เบอร์รี่อินทรีย์ส่งมอบร้านเลมอนฟาร์มตลอดปี

พ.ศ.2558
-ประสบปัญหาภัยแล้งทำนาได้เพียง 1-2รอบ สมาชิกมีรายได้ลดลง เลมอนฟาร์มจึงชวนผลิตผัก เพื่อทดแทนรายได้ และใช้น้ำน้อยกว่าการทำนา
- เริ่มต้นนับ1ในการเรียนรู้การผลิตผัก เนื่องจากสมาชิกไม่เคยผลิตผักมาก่อน
- ได้เริ่มส่งผักเป็นครั้งแรก สมาชิกนำผลผลิตมารวมกันที่กลุ่มเพื่อช่วยกันคัดคุณภาพให้ได้ผลผลิตที่ดีที่สุด
- มีผลผลิตข้าวไรซ์เบอร์รี่และผักส่งเลมอนฟาร์ม

พ.ศ.2559
-พ่อมานิตย์ แทนเพชร (สมาชิกกลุ่ม) จากชาวนาสู่ชาวสวนนักวิจัยผัก จากเคยทำนาต่อสู้กับน้ำท่วมและภัยแล้งจนได้แรงบันดาลใจจากพ่อปัญญาและพบกับเลมอนฟาร์ม ได้ทดลองปลูกผัก 10ตร.ม.ส่งเลมอนฟาร์มเป็นเวลา1ปี จึงตัดสินใจลงทุนปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตทั้งหมด ปรับเปลี่ยนพื้นที่ใหม่ จากแปลงนา17ไร่ มาเป็นแปลงผัก 2 ไร่ เหลือที่นาปัจจุบัน 5 ไร่ ทำไว้แค่พอกิน ที่ส่วนใหญ่กลายเป็นบ่อน้ำเพื่อเก็บน้ำให้ได้มากที่สุดและเลี้ยงปลา พื้นที่มีความหลากหลาย
- กลุ่มที่เข้มแข็ง มีการประชุมพูดคุยกันอยู่ทุกเดือน เดือนละ 1 ครั้ง มีการแลกเปลี่ยนคลายความวิตกกังวล และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เปิดใจ เปิดผลที่ได้รับไม่ปิดบัง ทำให้เกิดความมีส่วนร่วม ไว้วางใจซึ่งกันและกัน
- กลุ่มได้เป็นศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร(ศพก.) ของอ.อู่ทอง

พ.ศ.2560
-เดือนพฤษภาคม ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์(พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ) ลงพื้นที่เยี่ยม ศพก. และเปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีและบริการการเกษตร(Field Day) ของกลุ่ม
-มีสมาชิกคนรุ่นใหม่คนแรก พี่งามตา ทองดียิ่ง (หลานสาวพ่อมานิตย์) เกษตรกรน้องใหม่ที่ไม่เห็นด้วยกับปัญหาชาวนาเป็นหนี้ จึงตัดสินใจลงมือทำเอง เพื่อเปลี่ยนสังคมการเกษตรและผลิตอาหารที่ดีไว้ทานเอง จนหลงใหลในวิถีอินทรีย์ ตัดสินใจเปลี่ยนผืนนาของตนให้เป็นพื้นที่เกษตรผสมผสานเหมือนของพ่อมานิตย์ บนพื้นที่ 8 ไร่ตามฝัน

พ.ศ.2561
กลุ่มประสบความสำเร็จการแก้ไขปัญหาการผลิตผักในฤดูฝน โดยการปลูกผักบนแคร่และปรุงวัสดุปลูกให้เหมาะกับความต้องการของพืชแต่ละชนิด ทำให้ผลผลิตผักในฤดูฝนของกลุ่มเพิ่มมากขึ้น

พ.ศ.2562
พัฒนาผลผลิตส่งเลมอนฟาร์มเพิ่มขึ้นหลายชนิดทั้งข้าว,ผัก,ผลไม้ อาทิ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าว กข.43 ข้าวทับทิมชุมแพ ผักใบ ผักสลัด ผักสวนครัว ผักพื้นบ้าน ฝรั่งกิมจู กล้วยน้ำว้า มะละกอฮอลแลนด์
พ.ศ.2563
ด้านกระบวนการรับรองมาตรฐานยังคงเข้มงวดเหมือนเดิม แม้ในสถานการการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 กลุ่มปรับวิธีการดำเนินงานเพื่อให้สามารถดำเนินการตรวจประเมินแปลงสมาชิกครบทั้ง3ครั้ง/ปี จัดพิธีปฏิญญาเพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจจริงในการสร้างผลผลิตอินทรีย์แท้ตลอดเส้นทาง

พ.ศ.2564
เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว โดยการคัดคุณภาพด้วยเครื่องแทนแรงงานคน ลดเวลาและได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีเท่ากันทุก Lot การผลิต

ปัจจุบัน
เป็นศูนย์การเรียนรู้และเพิ่มประสิทธิภาพสินค้าเกษตร ของอำเภออู่ทอง แหล่งเรียนรู้การทำนาอินทรีย์และการทำปุ๋ยหมักอินทรีย์
- มีสมาชิกคนรุ่นใหม่เพิ่มมากขึ้น ช่วยงานด้านบัญชี ด้านธุรการ ด้านการวางแผนการผลิตให้กับกลุ่ม