3 วิธีแก้ปัญหาท้องอืด อาหารไม่ย่อยในผู้สูงอายุ

18/08/2022

     เคยไหม? หลังกินอาหารแล้วมีอาการท้องอืด จุกเสียด แน่นท้อง แสบร้อนกลางอก มีลมในท้อง เรอบ่อย เรอเปรี้ยว คลื่นไส้ อึดอัดไม่สบายตัว ปัญหานี้นอกจากจะสร้างความรำคาญแล้วยังทำให้ผู้สูงอายุไม่อยากอาหารอาจทำให้ขาดสารอาหารได้จึงไม่ควรละเลย หรือแก้ปัญหาที่ปลายเหตุด้วยการกินยา

ปัญหาท้องอืด อาหารไม่ย่อยในผู้สูงอายุอาจเกิดจาก 2 ปัจจัยคือ
1.พฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น กินเร็วเกินไป เคี้ยวอาหารไม่ละเอียด กินไม่เป็นเวลา หรือเครียด
2.ระบบย่อยอาหารเสื่อมถอย เมื่ออายุมากขึ้นระบบย่อยอาหารจะทำงานได้ไม่ดีเหมือนเดิม ฟันบดเคี้ยวอาหารไม่ดี เจ็บฟัน เจ็บเหงือก กระเพาะอาหารย่อยอาหารยากขึ้น อาหารจะย่อยไม่หมดจะเกิดการหมักหมมจนมีแก๊ส และลำไส้บีบตัวเคลื่อนตัวน้อยลงทำให้อาหารตกค้าง

วิธีลดการเกิดปัญหาท้องอืด อาหารไม่ย่อย

1.สังเกต & หาสาเหตุ
สังเกตร่างกายและหาสาเหตุอาการท้องอืดว่าเกิดจากสาเหตุเหล่านี้หรือไม่
• แพ้น้ำตาลแลคโตสหรือน้ำตาลฟรุกโตส
• กินอาหารที่ย่อยยากทำให้เกิดก๊าซจากการหมักหมมในลำไส้ เช่น อาหารใยอาหารสูง, น้ำตาลแอลกอฮอล์
• กินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสายโมเลกุลสั้น (FODMAP) ย่อยยาก ทำให้ลำไส้เล็กทำงานหนัก
• จุลินทรีย์ในลำไส้ไม่สมดุล

     นอกจากนี้อาการท้องอืดยังเกิดได้จากอีกหลายสาเหตุ เช่น โรคลำไส้แปรปรวน ความเครียด ความวิตกกังวล กินอาหารไขมันสูง, น้ำหนักขึ้นเร็ว และระหว่างมีประจำเดือน ในขณะที่บางครั้งอาการท้องอืดอาจเป็นสัญญาณการเกิดโรคต่างๆได้เช่น การติดเชื้อ การดูดซึมอาหารผิดปกติ โรคตับ ลำไส้อุดตัน หรือมะเร็ง ดังนั้นหากมีอาการท้องอืดเรื้อรังและแก้ไม่หายควรรีบพบแพทย์

2.ปรับพฤติกรรมการกิน
2.1 กินอาหาร Low FODMAP diet
     FODMAP ย่อมาจาก Fermentable Oligosaccharides, Disaccharides, Monosaccharides and Polyols ทั้งหมดเป็นคาร์โบไฮเดรตสายโมเลกุลสั้นย่อยยาก และส่งเสริมให้แบคทีเรียบางชนิดโตเร็วผลิตก๊าซในทางเดินอาหาร จนเกิดอาการท้องอืด ปวดท้อง ท้องผูก และอาจท้องเสียได้เช่นกัน
     อาหารกลุ่ม Low FODMAP Diet ที่ไม่มีคาร์โบไฮเดรตสายโมเลกุลสั้นหรือมีน้อยช่วยลดอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย ท้องผูก และท้องเสีย ในผู้ป่วยโรคลำไส้แปรปรวน และภาวะแบคทีเรียในลำไส้เล็กไม่สมดุลได้ 75-81%

2.2 หลีกเลี่ยงน้ำตาลแลคโตส
เมื่ออายุเพิ่มขึ้นร่างกายผลิตเอนไซม์ แลคเตส ที่ช่วยย่อยน้ำตาลแลคโตสในนมได้น้อยลงทำให้เกิดอาการท้องอืด ปวดท้องแนะนำดื่มนมที่ปราศจากแลคโตส หรือผลิตภัณฑ์จากนมที่มีแลคโตสต่ำ 

2.3 เสริมโพรไบโอติก ปรับสมดุลจุลินทรีย์ในลำไส้
การปรับสมดุลจุลินทรีย์ ช่วยให้ร่างกายขับถ่ายของเสียได้ดีขึ้น ลดการสะสมก๊าซที่ทำให้ท้องอืด

3.ปรับพฤติกรรม
• แบ่งกินอาหารมื้อเล็กๆแต่หลายมื้อ ช่วยลดปริมาณอาหารย่อยยากที่อาจหมักหมมในลำไส้
• ลดการกินอาหารไขมันสูง จำกัดปริมาณเกลือในแต่ละมื้อ เพราะอาหารที่มีเกลือหรือไขมันสูงอาจทำให้ท้องอืดโดยร่างกายจะผลิตและกักเก็บก๊าซในลำไส้มากขึ้น
• กินอาหารให้ช้าลง เคี้ยวให้ละเอียด
• ออกกำลังกายให้ลำไส้ขยับตัวมากขึ้น ลดอาการท้องอืด นอกจากนี้ยังช่วยลดความเครียดที่ส่งผลโดยตรงกับโรคที่เกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร

     เพียงปรับการกินอาหารและพฤติกรรมการใช้ชีวิตเป็นประจำต่อเนื่องอย่างน้อย 8 สัปดาห์ มีส่วนช่วยทุเลาอาการท้องอืดลงได้ เลือกซื้อวัตถุดิบ Low FODMAP diet คุณภาพดี อินทรีย์ปลอดภัยได้ที่เลมอนฟาร์มทุกสาขา หรือสั่งสะดวกผ่านทางออนไลน์