บริการออนไลน์ ปิดให้บริการชั่วคราว
ลางสาด และลองกองอินทรีย์ ผืนป่าวนเกษตร มรดกเพื่อลูกหลาน จ.อุตรดิตถ์
ระบบการทำสวนวนเกษตร คือการทำสวนผลไม้ในพื้นที่ป่าธรรมชาติ เป็นภูมิปัญญาของคนอุตรดิตถ์มาหลายร้อยปี กลุ่มวนเกษตรอินทรีย์พีจีเอสเลมอนฟาร์มอุตรดิตถ์ ได้นำหลักการเกษตรอินทรีย์มาใช้ในพื้นที่วนเกษตรเพื่อเป็นต้นแบบการเรียนรู้การทำเกษตรที่อาศัยความเกื้อกูลกันของระบบนิเวศธรรมชาติ ช่วยเพิ่มมูลค่า คุณค่า และคุณภาพของผลผลิต และที่สำคัญที่สุดคือป่าวนเกษตรอินทรีย์เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงสุดที่ช่วยปกป้องหน้าดิน เก็บรักษาความชื้น และรักษาความสมดุลของสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
การรวมตัวกันของกลุ่มเกษตรกร Lemon Farm Organic PGS อุตรดิตถ์ ร่วมกับคณะผู้วิจัยอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ และเลมอนฟาร์ม เพื่อร่วมกันปกป้อง “ลางสาด” ผลไม้ท้องถิ่น เอกลักษณ์ของ จ.อุตรดิตถ์ ที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของคนในพื้นที่มาหลายร้อยปี ซึ่งปัจจุบันต้นลางสาดกำลังจะถูกตัดโค่น เพื่อเปลี่ยนเป็นพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาดินสไลด์และใช้สารเคมีบนที่สูง "ลางสาด สำหรับความหมายของคนในพื้นที่ คือตัวแทนเป็นการฟื้นฟูป่า ฟื้นฟูอาหาร เพื่อความมั่นคง ทางอาหาร ในป่ามีกล้วย มีผลไม้ มีพืชผัก ส้มโอ สับปะรด ทุเรียน ลองกอง ฯลฯ ใน 12 เดือนชาวบ้านได้อาหาร จากป่าวนเกษตรตลอดทั้งปี การรักษาระบบป่าวนเกษตรซึ่งมีลางสาดเป็นพืชที่สำคัญในระบบ จะช่วยรักษาระบบ อาหารที่ยั่งยืนและมั่นคงให้ชุมชน เรามีภูมิปัญญามาเป็นร้อยปี กลุ่มเราก็อยากจะรักษาป่าวนเกษตรอินทรีย์นี้ให้กับลูกหลาน” สุทธิรักษ์ ปาลาด อดีตนักวิชาการเกษตร ผู้ประสานงานกลุ่มเกษตรอินทรีย์พีจีเอส อุตรดิตถ์ กล่าว
ปัจจุบันกลุ่มวนเกษตรอินทรีย์ พีจีเอส อุตรดิตถ์ มีผลผลิตหลักเป็นลางสาด ลองกอง ทุเรียน มะยงชิด มะปรางหวาน ซึ่งเป็นพืชที่สร้างรายได้ให้กับสมาชิกในกลุ่มและยังคงทำงานรักษาป่าวนเกษตร ไม่ให้มีการตัดต้นไม้ทำลาย เป็นการรักษาพืชพันธุ์ท้องถิ่น ประจำจังหวัด อุตรดิตถ์ ให้คงอยู่อีกด้วย
ลางสาดอินทรีย์
จุดเริ่มต้นของการรักษาป่าวนเกษตร
ผู้ใหญ่สมหวัง เอี่ยมงิ้วงาม ประธานกลุ่มเลมอนฟาร์ม พีจีเอส อุตรดิตถ์ เล่าที่มาของการรวมกลุ่มทำวนเกษตรอินทรีย์ว่า “เมื่อก่อนมีความบริสุทธิ์ของผืนดิน ผืนป่า สายน้ำ ตอนผมเป็นเด็กได้สัมผัสกินน้ำในลำห้วยไม่ต้องสะพายขวดพลาสติกไป ไปถึงก็ขุดเอาข้างนา กินได้อาบได้ น้ำในห้วยมีช่วงแล้งไม่ถึงเดือนมีปูปลาพอหากินได้ แต่ตอนนี้ภาพนั้นหายไปไหน ผมก็อยากจะเอาวนเกษตรไปเชื่อมฟื้นพื้นที่ป่า ฟื้นที่ทำกินของเราให้มันมีความบริสุทธิ์เรียกชีวิตกลับคืนมา คนไปสัมผัสไปบริโภคไปอยู่ได้ ไม่เป็นอันตราย แม้จะเป็นจุดเล็กๆ ผมก็ยินดีอยากให้ลูกหลานได้สัมผัสคุณค่าตรงนี้ในอนาคต ถ้าเขาจะกลับมาดูแลป่า ดูแลแผ่นดินเกิดในหมู่บ้านของเขา ผมก็หวังไว้อย่างนั้น”
สุทธิรักษ์ ปาลาด อดีตนักวิชาการเกษตร ผู้ประสานงานกลุ่มเกษตรอินทรีย์พีจีเอส อุตรดิตถ์ กล่าวว่า เราไม่ได้มองลางสาดเป็นพืชเศรษฐกิจ แต่เรามองว่าลางสาดเป็นการฟื้นฟูป่าฟื้นฟูอาหาร เพื่อความมั่นคงทางอาหาร ในป่ามีกล้วยมีผลไม้มีพืชผักเยอะแยะ ส้มโอ สับปะรด ทุเรียน ลองกอง ฯลฯ ใน 12 เดือนเราได้อาหารจากวนเกษตรตลอดทั้งปี การรักษาระบบป่าวนเกษตรซึ่งมีลางสาดเป็นพืชที่สำคัญในระบบ จะช่วยรักษาระบบอาหารที่ยั่งยืนและมั่นคงให้กับชุมชน เรามีภูมิปัญญามาเป็นร้อยปี กลุ่มเราก็อยากจะรักษาป่าวนเกษตรอินทรีย์นี้ให้กับลูกหลานต่อไป