บริการออนไลน์ ปิดให้บริการชั่วคราว
กลุ่มเกษตรอินทรีย์ พีจีเอส น่าน
เริ่มต้นจากการรวมกลุ่มเกษตรกรสมาชิกโรงสีข้าวพระราชทานที่สนใจผลิตข้าวเกษตรอินทรีย์ โดยการชักชวนและสนับสนุนจากอาจารย์ประจำสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 เป็นต้นมา จากเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเคมี 100 % ได้เริ่มปรับเปลี่ยนและเรียนรู้การผลิตข้าวอินทรีย์มาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งได้เกษตรกรที่มีใจจริงที่ผลิตข้าวอินทรีย์ตามมาตรฐานการรับรองแบบมีส่วนร่วม Lemon Farm Organic PGS บนผืนนาที่ราบที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดน่าน ปัจจุบันได้ขยายฐานสมาชิกไปยัง อ.นาน้อย อ.เวียงสา และอ.เมือง ทำให้มีทั้งเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการ มีใจรักในวิถีเกษตรอินทรีย์ และเกษตรกรรุ่นเก่าที่มีความมุ่งมั่นในการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง เพื่อเป็นต้นแบบในการสร้างความยั่งยืนของพื้นที่ทำการเกษตร ให้ลูกหลานรุ่นปัจจุบันไม่ละทิ้งผืนดิน เห็นคุณค่าของผืนนาและเกิดความรักความหวงแหนพื้นที่อันเป็นมรดกของตนนี้สืบไป นับว่าเป็นการบูรณาการด้านทรัพยากรบุคคล เพื่อร่วมกันพัฒนาชุมชนให้เกิดความยั่งยืนโดยแท้
ก่อนเข้าร่วม
-เกษตรกรกลุ่มโรงสีข้าวพระราชทานส่วนหนึ่งเห็นปัญหาพื้นที่แปลงนาผืนใหญ่ถูกบุกรุกจากข้าวโพดเคมี รวมกลุ่มกันทำ นาข้าวอินทรีย์เพื่อรักษาพื้นที่นา ให้คงอยู่และเป็นแหล่งข้าวอินทรีย์ของคนในจังหวัด สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาฯ ได้เข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการทำนาเคมีสู่วิถีเกษตรอินทรีย์ สร้างโมเดลการเรียนรู้และเป็นทางเลือกอาชีพแทนการปลูกข้าวโพดเคมี มีสมาชิกจำนวน 13 ครอบครัว พื้นที่ 45 ไร่
พ.ศ.2559
-เลมอนฟาร์มร่วมกับสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาฯ ได้ลงนามข้อตกลงการพัฒนาพื้นที่อินทรีย์ในจังหวัดน่าน โดยใช้กระบวนการเกษตรอินทรีย์ PGS และการตลาดที่เป็นธรรม เกษตรกรสนใจเข้าร่วมกระบวนการจำนวน 17 ราย พื้นที่ 75 ไร่ ในพื้นที่ 3 อำเภอ
พ.ศ.2560
-สมาชิกจำนวน 60 ครอบครัว พื้นที่ 25 ไร่ เกษตรกรได้เรียนรู้และจัดการผลิตพืชอินทรีย์ เช่น การปลูกผัก ข้าว และทดลองปลูกถั่วเหลืองหลังนา เริ่มเกิดผลผลิต ข้าวและผักอินทรีย์ส่งมาเลมอนฟาร์ม
-คุณคริสโตเฟอร์เมย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรอินทรีย์และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล ร่วมลงพื้นที่เยี่ยมแปลงสมาชิกและให้คำแนะนำแนวทางการปรับปรุงพื้นที่สู่การทำอินทรีย์อย่างยั่งยืน
พ.ศ.2561
-เกิดการเผยแพร่ความรู้เกษตรอินทรีย์อย่างกว้างขวาง โดยมีสมาชิกใน 8 อำเภอ มารวมกลุ่มคนรุ่นใหม่คืนถิ่น กลับมาช่วยทำงานและร่วมพัฒนากลุ่ม เกิดผลผลิต 17ตัน/ปี (ผัก 6 ตัน/ปี, ผลไม้ 2 ตัน/ปี, ข้าว 6 ตัน/ปี, ธัญพืช 3 ตัน/ปี) ร่วมกับศูนย์การเรียนรู้โจโก้ อ.ภูเพียง ทำพื้นที่ต้นแบบเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ จำนวน 15 ไร่ เพื่อนำไปขยายผลแก้ไขปัญหาการปลูกพืชเชิงเดี่ยวบนที่สูง
พ.ศ.2562
-พิธีปฏิญญาและตรวจประเมินระบบกลุ่ม โดยมี อ.ชนวน รัตนวราหะ อดีตรองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร และผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คณาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สสส. ร่วมตรวจประเมิน
-ไม้กวาดจากป่าก๋ง ชุมชนบ้านน้ำหมาว อ.บ่อเกลือ ได้ผ่านบทเรียนการทำไร่ข้าวโพดเคมีที่สร้างภาระหนี้สินและต้องขยายพื้นที่ถางป่าเพิ่มขึ้นทุกปี ชาวบ้านจึงตัดสินใจหันหลังให้กับการทำไร่ข้าวโพด เลิกใช้สารเคมีเพื่อรักษาป่าต้นน้ำตั้งแต่ปี2560เป็นต้นมา การเลิกใช้ยาฆ่าหญ้าทำให้มีต้นก๋งเกิดขึ้นจำนวนมาก ชาวบ้านนำมาทำเป็นไม้กวาดตามแบบภูมิปัญญาจากคนรุ่นก่อนและขายเพื่อสร้างรายได้ แต่ก็ไม่มากนัก เลมอนฟาร์มจึงส่งเสริมให้ชาวบ้านผลิตไม้กวาดแล้วส่งมาจำหน่ายที่ร้านเลมอนฟาร์มเพื่อสร้างรายได้และมีตลาดที่แน่นอน
-ส่งเสริมการเลี้ยงไก่ไข่ เพื่อสร้างอาชีพใหม่ให้ชุมชนบ้านห้วยหาด-บ้านหลักลาย อ.ท่าวังผา ซึ่งเป็นชุมชนติดกับบ้านน้ำหมาว อ.บ่อเกลือ ที่หันหลังให้ข้าวโพดเคมีเช่นกันจนวัยหนุ่มสาวต้องย้ายไปทำงานที่อื่น ในหมู่บ้านเหลือเพียงเด็กและคนแก่เพียง20ครัวเรือน คนในชุมชนหวังอยากให้ลูกหลานกลับมาอยู่บ้านและมีอาชีพสามารถเลี้ยงครอบครัวได้
พ.ศ.2563
-น้ำตาลอ้อยอินทรีย์ เกษตรกร บ้านห้วยส้ม อ.นาน้อย จ.น่าน จำนวน3ราย ได้ปรับเปลี่ยนจากการปลูกอ้อยเคมีสู่วิถีอินทรีย์ หยุดการใช้สารเคมีในการเพาะปลูก ไม่เผาเศษวัสดุเหลือทิ้งจากการเก็บเกี่ยว และนำมาแปรรูปเป็นน้ำตาลอ้อยอินทรีย์จากวิธีภูมิปัญญาท้องถิ่น พัฒนาทำเป็นน้ำตาลอ้อยแว่น และพัฒนาต่อมาจนได้เป็นน้ำตาลอ้อยแบบผงที่สะดวกในการนำไปใช้งาน ส่งมาจำหน่ายที่ร้านเลมอนฟาร์ม สร้างรายได้เสริม เลี้ยงชีพพ.ศ.2564
-เดือนมีนาคม ได้รับการตรวจประเมินจากสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์ไทยพีจีเอส(TOPF) เป็นการตรวจประเมินไขว้(Peer review) ข้ามระหว่างเครือข่ายที่อยู่ภายใต้สมาพันธ์ฯ เพื่อเทียบเคียงข้อกำหนดมาตรฐานและระบบการรับรองมาตรฐานของกลุ่ม
-จัดพิธีปฏิญญา มอบใบรับรองกลุ่ม เกษตรอินทรีย์ พีจีเอส น่าน รับรองกลุ่มผู้ผลิตอาหารอินทรีย์ภายใต้มาตรฐาน Lemon Farm Organic PGS ที่ผ่านกระบวนการ
ปัจจุบัน 2565
-กลุ่มเกษตรอินทรีย์พีจีเอส จ.น่าน ดำเนินงานเข้าสู่ปีที่ 7 จากจุดเริ่มต้นสู่การพัฒนาจนกลุ่มสามารถดำเนินงานด้านระบบรับรองมาตรฐานและงานส่งเสริมเกษตรกรสมาชิกได้เองอย่างเข้มแข็ง มีคณะทำงานคนรุ่นใหม่ที่มีใจพัฒนาเข้ามาช่วยขับเคลื่อนทำให้กลุ่มพัฒนาได้อย่างรวดเร็วและมีแนวทางที่มั่นคง